ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นเช่นอย่างไร กิจกรรมการเคลื่อนย้ายและการขนส่งสินค้าและบริการทางด้านโลจิสติกส์ยังมีความจำเป็นควบคู่อยู่กับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะยุคที่เป็นโลกาภิวัตน์และไร้พรมแดนธุรกิจจะแข่งขันกันในเรื่องของการบริหารจัดการให้ต้นทุนต่ำสุด การบริการที่รวดเร็ว และตอบสนองความพึงพอใจกับลูกค้าให้ดีกว่าคู่แข่งขัน ซึ่งธุรกิจจะมีการบริหารจัดการเช่นนั้นได้จะต้องมีบุคลากรที่มีคุณภาพและมีจำนวนที่เพียงพอ แต่จากปรากฏการณ์ดังกล่าว พบว่า ภาคธุรกิจมีความต้องการบุคลากรโลจิสติกส์ของภาคธุรกิจมีมากกว่าผู้ผลิต (สถาบันการศึกษา) ซึ่งแนวโน้มความต้องการบุคลากรด้านโลจิสติกส์ของไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ปี 2548-2553 โดยมีความต้องการเพิ่มขึ้นจาก 236,000 คน เป็น 319,000 คน เพิ่มขึ้นเท่ากับ83,000 คน โดยเฉลี่ยต้องการกำลังคนปีละ 17,000 คน ส่วนใหญ่ต้องการเป็นระดับปฏิบัติการ พนักงาน ส่วนระดับผู้จัดการในระดับวางแผนต้องการทักษะด้านการจัดการและปฏิบัติในระดับโรงงาน ความรู้ด้าน Supply Chain Management การทำธุรกิจระหว่างประเทศและภาษาอังกฤษ กับความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและเข้าใจโปรแกรมสำเร็จรูป
สำหรับสถานศึกษาที่เป็นแหล่งผลิตบุคลากรเข้าสู่ระบบตลาดแรงงานหลายแห่งมีการเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรสาขาการจัดการโลจิสติกส์ระดับอาชีวะศึกษาและอุดมศึกษากันเพิ่มมากขึ้นเพื่อสนองความต้องการของภาคธุรกิจ ซึ่งที่เปิดสอนกันอยู่ในขณะนี้มีอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ
1. วิศวกรรมโลจิสติกส์ เน้นการคำนวณโดยหลักสูตรมุ่งเน้นหลักในการออกแบบและจัดการระบบต่างๆ เช่นระบบคลังสินค้า ระบบการผลิต ระบบการบรรจุภัณฑ์ ระบบการกระจายสินค้า รวมถึงการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ
2. วิทยาศาสตร์โลจิสติกส์ เน้นคำนวณ เน้นการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาพัฒนางานด้านโลจิสติกส์ เช่น การถนอมอาหารการบรรจุหีบห่อเพื่อการยืดอายุการเก็บรักษาหรือคงความสดของอาหารของสินค้า และใช้ระบบการจัดการโลจิสติกส์ รวมทั้งมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารในระบบที่เป็น Real Time เช่น RFID EDI MRP เป็นต้น
3.พาณิชยนาวี เน้นคำนวณเช่นกัน โดยเน้นเงื่อนไขการค้า การขนส่ง นำเข้า-ส่งออก พิธีการศุลกากร และการค้าระหว่างประเทศ
4.บริหารธุรกิจโลจิสติกส์ ไม่ได้เน้นการคำนวณมากนัก แต่เป็นการผสมผสานเป็นลักษณะสหวิทยาการที่เน้นเรื่องกระบวนการจัดการในการใช้ทรัพยากรอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามหลักพลังที่เกิดจากการรวมกันย่อมมีมากกว่าแต่ละส่วนดำเนินการเองหรือ เรียกว่า Synergy ที่ 1+1 ต้องได้ผลลัพธ์มากกว่า 2
ส่วนสถาบันการศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนในศาสตร์โลจิสติกส์นี้มีอยู่ 3 ระดับ คือ
1. ระดับอาชีวศึกษามีสถานศึกษาเปิดสอนประมาณ 38 แห่ง โดยเฉลี่ยจบการศึกษาแห่งละ 80 คน รวมแล้วจบการศึกษาประมาณ 3,040 คน ซึ่งจะมีนักศึกษาที่จบการศึกษาบางส่วนเรียนต่อในระดับปริญญาตรี จึงทำให้เกิดการขาดแคลนพนักงานในระดับปฏิบัติการค่อนข้างมาก
2. ระดับปริญญาตรีและปริญญาโทประมาณ 40 แห่ง มีนักศึกษาจบโดยเฉลี่ยปีละ 4,200 คน
3. ระดับปริญญาเอกประมาณ 4 แห่ง มีนักศึกษาจบปีละประมาณ 20 คน
ขณะที่ภาคเอกชนต้องการบุคลากรด้านนี้ โดยเฉลี่ยต้องการกำลังคนปีละ 17,000 คน จากตารางแสดงให้เห็นว่า สถาบันการศึกษายังผลิตบุคลากรตอบสนองความต้องการบุคลากรของภาคธุรกิจโดยรวมขาดไปประมาณ 1,360 คน
ถึงแม้ว่าการมีสถาบันการศึกษาเปิดสอนเพิ่มขึ้นจนมีจำนวนมากขึ้นในสัดส่วนที่ใกล้กับค่าเฉลี่ยของความต้องการของตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรมแล้วก็ตาม แต่ในแง่ของคุณภาพบุคลากรที่จบการศึกษาไปนั้น ยังถือว่าไม่สอดคล้องกับความก้าวหน้าของวิทยาการ และความต้องการของภาคธุรกิจมากนักที่ต้องการบุคลากรระดับปฏิบัติการ ส่วนระดับผู้จัดการต้องการทักษะด้านการจัดการแบบบูรณาการความรู้ด้านโลจิสติกส์ (Logistics) และ ซัพพลายเชน (Supply Chain Management) เข้าด้วยกัน
อย่างไรก็ดี ทักษะเหล่านี้จะต้องได้รับการเติมเต็มจากสถาบันการศึกษาส่วนหนึ่งก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่ยังมีสถาบันการศึกษาบางแห่งที่มีลักษณะไม่พึงประสงค์ลักษณะ ดังนี้ 1.จ่ายครบจบแน่ เรียนแย่ก็ผ่าน 2.ไม่มีตัวตนอาจารย์ประจำ นำชื่อมาแปะไว้ แต่ทำการโฆษณาว่ามีคณาจารย์ประจำ 3.ไม่มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งในระดับอาชีวศึกษาไม่น่าห่วง เพราะว่ามีอาจารย์ที่จบในระดับปริญญาตรีเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนในระดับนี้ได้ แต่บางส่วนยังขาดประสบการณ์และวิชาการที่แม่นยำ ระดับปริญญาตรี เริ่มมีปัญหาในบางแห่งซึ่งมีสัดส่วนอาจารย์ที่ไม่สมดุลและจบไม่ตรงสาขา รวมทั้งไม่เคยทำงานในภาคโลจิสติกส์มาก่อนทำให้การถ่ายทอดขาดการบูรณาการ ระดับปริญญาโท ปัญหาเริ่มรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้สอนในระดับนี้จะต้องจบปริญญาเอก หรือมีตำแหน่งทางวิชาการระดับรองศาสตราจารย์ แต่บางแห่งไม่มีผู้สอนประจำใช้แต่อาจารย์พิเศษ บางแห่งใช้ผู้สอนเพียงจบปริญญาโทหรือกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกมาสอนปริญญาโท ทำให้มาตรฐานการศึกษาที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ ระดับปริญญาเอก เริ่มจะมีปัญหาเล็กน้อยในเรื่องของการรับจำนวนนักศึกษาเข้าเรียน ซึ่งจำกัดจำนวนผู้ที่จะเข้าศึกษาต่อ ประกอบกับอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลงานวิจัยดุษฎีนิพนธ์มีน้อย ทำให้การผลิตบุคลากรด้านนี้ที่จะเป็น Key man เข้าสู่ธุรกิจโลจิสติกส์มีน้อยตามไปด้วย 4.บางแห่งจัดการเรียนการสอน 1 ห้องเรียนมีนักศึกษาจำนวน 80-100 คน ถือว่าเป็นการทำลายระบบการเรียนรู้ผู้เรียน5.ไม่มีผู้อำนวยการหลักสูตร หรือมีผู้อำนวยการหลักสูตร แต่จบจากสถาบันที่น่าสงสัยว่า ก.พ. และ สกอ. ไม่ได้รับรอง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ได้มีการร่วมมือกันมากขึ้นในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมอาจารย์ผู้สอน การจัดทำกรณีศึกษาประกอบการเรียนการสอน สหกิจศึกษา เป็นต้น แล้วก็ตาม แต่ก็ทำได้ในเชิงปริมาณมากกว่าเชิงคุณภาพ ส่วนภาคธุรกิจก็จะต้องทุ่มงบประมาณการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรต่อจากสถาบันการศึกษา โดยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนใหญ่ มักไม่ค่อยลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งหมดยุคแล้วที่จะใช้คนต่ำกว่าเกณฑ์เพื่อทางการแข่งขันในยุคนี้
สำหรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานทางด้านโลจิสติกส์ยังส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของไทย คือ
ประการแรก จากผลการสำรวจของธนาคารโลก (World Bank, Logistics Performance Index,2010) พบว่า ดัชนีศักยภาพโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index : LPI) ของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 35 เท่ากับ 3.29 ในขณะที่อันดับ1 เป็นประเทศเยอรมนี เท่ากับ 4.11 รองลงมาประเทศสิงคโปร์เท่ากับ 4.09 และประเทศญี่ปุ่นเท่ากับ 3.97
ประการที่ 2 ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศไทยมีต้นทุนสูงถึง 18.6% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8% เท่านั้น
ประการสุดท้าย คือ เกิดการซื้อตัวหรือแย่งตัวบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ของบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้ธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อมเกิดความอ่อนด้อยทางการแข่งขัน จำเป็นต้องรับงานช่วงต่อ (Sub-contract) จากบริษัทข้ามชาติหรือบริษัทขนาดใหญ่ จึงไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่ระดับสากลได้
ถึงแม้ว่าจะมีบุคลากรที่จบทางด้านการจัดการโลจิสติกส์ออกมาเพียงพอเหมาะสมกับตลาดแรงงาน แต่ในอนาคตไม่เกิน 2-3 ปี จะเกิดการผลิตจำนวนที่เกินต่อความต้องการของตลาดแรงงาน (Over Supply) ขึ้น ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา ภาคธุรกิจ และ ภาครัฐ จึงควรจะมีแนวทางเตรียมในการรับมือกับปรากฏการณ์ดังกล่าวล่วงหน้า
โดย : ดร.สิทธิชัย ฝรั่งทอง
หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯธุรกิจ