สาขาเทคโนโลยีโลจิสติกส์และการจัดการขนส่ง คณะเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ได้ดำเนินการจัดทำบล็อกดังกล่าวนี้ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ 1.เพื่อรวบรวมบทความที่น่าสนใจด้านโลจิสติกส์และการจัดการระบบซัพพลายเชนให้กับบุคคลที่สนใจทราบ 2.เพื่อประชาสัมพันธ์งานวิจัยของนักศึกษาในสาขาให้กับบุคคลทั่วไปได้ทราบ ซึ่งมีทั้งส่วนที่มาจากการศึกษาในสถานประกอบการของสหกิจศึกษา และการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัย (Research Proposal)

การจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัย  ( Research  Proposal)
ข้อเสนอโครงการวิจัยเป็นรายงานที่สำคัญรายงานหนึ่ง  การตัดสินใจที่จะให้มีการทำวิจัยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับข้อเสนอโครงการวิจัยนี้  ข้อเสนอโครงการวิจัยนี้นอกจากจะเป็นการเสนอการวางแผนงานวิจัยแล้วยังต้องเสนอผลของการวิจัยที่คาดหมายไว้ด้วยแนวคิดต่างๆ  พร้อมทั้งผลที่คาดว่าจะได้รับ  ซึ่งต้องถ่ายทอดออกมาเป็นรายงานที่เอาชนะใจผู้บริหาร  แสดงความสำคัญและประโยชน์ที่คุ้มค่า  การวิจัยจะเกิดขึ้นหรือไม่  จึงอยู่ที่ข้อเสนอโครงการวิจัยนี้
“ข้อเสนอโครงการวิจัย เป็นรายงานที่แสดงการวางแผนล่วงหน้า  ซึ่งต้องครอบคลุมถึงวัตถุประสงค์  วิธีดำเนินงานวิจัย  งบประมาณ(ถ้ามี)  และผลที่คาดว่าจะได้รับ”
เนื้อหาของรายงานข้อเสนอโครงการวิจัย

1. ชื่อเรื่อง ภาษาไทย และอังกฤษ (Title) 
การตั้งชื่อโครงการควรตั้งให้ตรงหรือสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และเนื้อหาที่เราต้องการศึกษา  โดยหากเป็นการศึกษาปัญหาที่เกี่ยวกับบริษัท หรือหน่วยงาน ผู้วิจัยต้องมีการเขียนอ้างอิงบริษัทหรือหน่วยงานดังกล่าวด้วย

2. ที่มาและความสำคัญของปัญหา (Background to the problem) 
เป็นการกล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้ผู้วิจัยต้องศึกษาเรื่องดังกล่าว  ซึ่งอาจแสดงได้ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันภายใน และภายนอกบริษัทหรือหน่วยงานที่บีบคั้น  หรือแสดงออกด้วยแรงจูงใจด้านการพัฒนาที่ทำให้ต้องดำเนินการ  รวมทั้งอาจมาจากงานวิจัยในปัจจุบันที่ยังขาดเรื่องดังกล่าว เป็นต้น

3. วัตถุประสงค์ของการศึกษา (The Study Objective) 
เป็นการเขียนปัจจัยต่างๆ ที่ผู้วิจัยต้องทำการศึกษา  เพื่อนำผลที่ได้จากวิคราะห์ และอภิปรายผลการศึกษาต่อไป

4. สมมติฐาน  (Hypothesis)
การวิจัยที่ต้องมีการเขียนสมมติฐานเบื้องต้น คือ การวิจัยเชิงปริมาณ ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพ ไม่ต้องมีการเขียนสมมติฐาน  โดยการเขียนสมมติฐานมีจุดประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์  และเป็นการคาดคะเนหรือสันนิษฐานคำตอบของงานวิจัยนั้น

5. ขอบเขตการศึกษา (Scope of the study)
การจำกัดขอบเขตในการศึกษาว่าจะศึกษาเกี่ยวกับอะไร  ที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร  เพื่อช่วยให้จำกัดลักษณะปัญหาให้มีความชัดเจนมากขึ้น  โดยส่วนมากมักจะกำหนดขอบข่ายในด้านประชากร  กลุ่มตัวอย่าง  ตัวแปรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  รวมทั้งกำหนดช่วงเวลา  เพื่อให้ความคิดของผู้อ่าน หรือผู้นำรายงานวิจัยไปใช้อยู่ในกรอบที่จำกัด  ไม่หลงผิดไปในทิศทางอื่น

6. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ (Contribution of the study)
การเขียนประโยชน์ที่ผู้วิจัยคาดว่าจะได้รับนั้น  มีวิธีการเขียนหลายแบบ  ซึ่งในที่นี้เสนอ 2 ส่วน คือ
1)  ส่วนที่เป็นประโยชน์ในทางวิชาการ  เช่น ช่วยให้ได้รับความรู้ความเข้าใจทางวิชาการในเรื่อง...  หรือ  เป็นแนวทางในการพัฒนาความรู้ในเรื่อง...  เป็นต้น
2)  ส่วนที่เป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติ  ซึ่งควรมีการระบุด้วยว่าหน่วยงานใดบ้างที่ได้รับประโยชน์  และนำไปพัฒนาในด้านใด เป็นต้น

7. นิยามศัพท์ (Definition of Term)
เป็นการจำกัดความหมายของคำ หรือข้อความที่ใช้ในการวิจัย  เพื่อให้เกิดการสื่อความหมายที่ตรงกัน  ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจตรงจุดตามความมุ่งหมายของผู้วิจัย  และยังช่วยให้ปัญหาการทำวิจัยมีความรัดกุมชัดเจนมากขึ้น  การนิยามศัพท์เฉพาะ  สามารพทำได้ 2 ลักษณะ คือ
1)  การนิยามทั่วไป  เป็นการนิยามตามความหมายของตัวแปรนั้น  อาจจะนิยามตามทฤษฎี  ตามพจนานุกรม  หรือตามผู้เชี่ยวชาญ
2)  การนิยามปฏิบัติการ  เป็นการนิยามตัวแปรที่ศึกษา  โดยแบ่งออกในรูปโครงสร้างความสามารถในการวัด  การสังเกตหรือตรวจสอบนิยามปฏิบัติการ  ทำการนิยามลักษณะนี้เน้นการพยายามบอกหรือธิบายว่าพฤติกรรมหรือตัวแปรนั้นเป็นอย่างไร วัดได้โดยวิธีใด  และใช้เครื่องอะไรวัดผลของการวัดออกมา

8. วรรณกรรมปริทัศน์ (Literature Review)
เป็นการกำหนดแนวความคิดที่มีความเกี่ยวข้องกับการวิจัยว่าต้องนำเรื่องใดมาพิจารณาบ้าง  มักเป็นการกล่าวถึงปัจจัยที่มีผลต่อการศึกษา และการดำเนินงาน

9. ระเบียบวิธีการศึกษา  (The Study Methodology)
เป็นการกล่าวถึงวิธีการที่นักวิจัยจะนำมาใช้ในการวิจัย  ได้แก่
  -  การเก็บข้อมูลแต่ละประเภท ต้องใช้วิธีการใด หรือเทคนิคใดบ้าง
  -  การวิเคราะห์ข้อมูลให้หลักการใด
  -  การสรุปผลข้อมูล

10.  ชื่อผู้วิจัย และผู้ร่วมวิจัย
เป็นการเขียนรายชื่อผู้ที่ร่วมดำเนินการวิจัย  โดยหากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีผู้วิจัยหลายคน  ต้องมีการกำหนดหัวหน้าโครงการที่เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

หมายเหตุ  หากเป็นรายงานที่จัดทำโดยนักวิจัยทางธุรกิจ  เพื่อเสนอต่อองค์กร/หน่วยงาน  จะต้องมีส่วนประกอบเพิ่มเติม ดังนี้  งานวิจัยในอดีตของผู้ทำวิจัยหรือคณะผู้จัดทำวิจัย  ตารางเวลาแสดงการปฏิบัติงาน  งบประมาณที่คาดว่าจะต้องใช้